ซี แวลู จิตอาสา ณ โรงเรียนสอนคนตาบอด

ยังคงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวในความทรงจำ พร้อมความประทับใจจากการเป็นผู้ให้ กับโครงการ ซี แวลู จิตอาสา ซึ่งในครั้งนี้ได้เดินทางมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนธรรมิกวิทยา หรือชื่อเดิมว่าโรงเรียนการศึกษาวิทยาศาสตร์คนตาบอด แต่ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระเมตตาพระราชทานชื่อโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนธรรมิกวิทยา” และทรงเขียนความหมายให้ว่า “โรงเรียนธรรมิกวิทยา หมายความว่า โรงเรียนที่มีซึ่งวิชาความรู้และการประพฤติในความดี” โรงเรียนได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปรารภของพระองค์ท่านที่ทรงอยากเห็นคนตาบอดเรียนวิทยาศาสตร์เหมือนคนตาบอดในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้มีพระกระแสรับสั่งในเรื่องนี้ไว้เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 และในภายหลังได้รับการบริจาคพื้นที่จำนวน 8 ไร่ ในเขตอำเภอเขาย้อยแก่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสถานศึกษา โดยมูลนิธิได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนในทันที ต่อมาโรงเรียนธรรมิกวิทยาได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีกครั้งจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552 

เพื่อเป็นการสืบทอดเจตตนารมณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในเบื้องต้นนั้น ทางบริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งกลุ่มจิตอาสา เพื่อให้พนักงานที่มีความสนใจ ได้เข้าร่วมในกิจกรรมทำความดีต่อสังคม โดยได้เดินทางมาร่วมทำกิจกรรมสันทนาการกับเด็กๆ แบ่งกลุ่มเป็นพี่เลี้ยง พร้อมทั้งเลี้ยงอาหารกลางวัน เรื่องราวและความประทับใจมากมาย ทำให้รู้สึกได้ว่าการเป็นผู้ให้นั้น กลับเสมือนเป็นผู้ได้รับเสียเอง ในส่วนของการสนับสนุน ทางบริษัทได้นำอุปกรณ์การเรียนต่างๆรวมไปถึงทุนการศึกษามอบให้กับทางโรงเรียน เชื่อว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งของการได้ทำหน้าที่เพื่อสังคม โดยเฉพาะกับเด็กๆเหล่านี้ เพราะวันข้างหน้าเขาจะเติบโตมาได้อย่างเข็มแข็ง เพราะเราให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน

“เมื่อเราเสียสละสิ่งที่เรามีให้แก่ใคร เพียงแค่นี้เราก็สามารถสร้างสุขให้ตนเองและผู้คนรอบข้างก็จะได้รับความสุขจากเราด้วยเช่นกัน”